วัดศรีชมภูองค์ตื้อ

วัดศรีชมภูองค์ตื้อ

          วัดศรีชมภูองค์ตื้อ เป็นวัดสังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 8 บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

มีที่ดินที่ตั้งวัด เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1212 มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ประมาณ 220 เมตร จดที่มีการครอบครอง
  • ทิศตะวันออก ประมาณ 140 เมตร จดลำห้วยโมง
  • ทิศใต้ ประมาณ 270 เมตร จดถนนสาธารณประโยชน์
  • ทิศตะวันตก ประมาณ 121 เมตร จดถนนสาธารณประโยชน์


วัดศรีชมภูองค์ตื้อได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2105 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2105 มีเขตวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 13 เมตร โบราณวัตถุในวัดที่สามารถพบได้ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

  • 1) หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ
  • 2) พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศิลปะสมัยล้านช้าง
  • 3) เจดีย์หางนกยูง 2 เจดีย์
  • 4) เจดีย์ดอกบัว 1 เจดีย์
  • 5) หลักศิลาจารึกบันทึกเป็นอักษรขอม ในอดีตมี 11 หลัก ปัจจุบันเหลือ 4 หลัก

 

ประวัติหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ

          พระพุทธรูปองค์นี้ได้ก่อสร้างมาแต่ดึกดำบรรพ์มีพระรูปงดงามน่าเลื่อมใส สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเวียงจันทร์ พระสงฆ์ในวัดศรีชมภูองค์ตื้อได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ลงมติจะหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นในบ้านน้ำโมง (เดิมเรียกว่าบ้านน้ำโหม่ง) เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแก่อนุชนรุ่นหลังต่อ ๆ มา เมื่อตกลงกันแล้วจึงได้ชักชวนบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อเรี่ยไรทองเหลืองบ้าง ทองแดงบ้าง ตามแต่ผู้ที่มีจิตศรัทธาจากท้องที่อำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ได้ทองหนักตื้อหนึ่ง (มาตราโบราณภาคอีสานถือว่า 100 ชั่งเป็นหมื่น 10 หมื่นเป็นแสน 10 แสนเป็นล้าน 10 ล้านเป็นโกฏิ 10 โกฏิเป็นหนึ่งกือ 10 กือเป็นหนึ่งตื้อ) พระสงฆ์และชาวบ้านจึงพร้อมกันหล่อ เป็นส่วน ๆ ในวันสุดท้ายเป็นวันหล่อตอนพระเกศ ในตอนเช้าได้ยกเบ้าเทแล้วแต่ไม่ติด เมื่อเอาเบ้าเข้าเตาใหม่ ทองยังไม่ละลายดีก็พอดีเป็นเวลาจวนพระจะฉันเพล พระทั้งหมดจึงทิ้งเบ้าเข้าเตาหรือทิ้งเบ้าไว้ในเตาแล้วก็ขึ้นไปฉันเพลบนกุฏิฉันเพลเสร็จแล้วลงมาหมายจะเทเบ้าที่ค้างไว้กลับปรากฏเป็นว่ามีผู้เทติด และตอนพระเกศสวยงามกว่าที่ตอนจะเป็น เป็นอัศจรรย์สืบถามได้ความว่า (มีชายผู้หนึ่งนุ่งห่มผ้าขาวมายกเบ้านั้นเทจนสำเร็จ) แต่ด้วยเหตุที่เบ้านั้นร้อนเมื่อเทเสร็จแล้ว ชายผู้นั้นจึงวิ่งไปทางเหนือบ้านน้ำโมงมีผู้เห็นยืนโลเลอยู่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งแล้วหายไป (หนองน้ำนั้นภายหลังชาวบ้านเรียกว่าหนองโลเลมาจนถึงปัจจุบันนี้ และชายผู้นั้นก็เข้าใจกันว่าเป็นเทวดามาช่วยสร้าง) เมื่อได้นำพระพุทธรูปที่หล่อแล้วมาประดิษฐานไว้ในวัด มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งเมืองเวียงจันทร์มาเที่ยวบ้านน้ำโมงสองท่านชื่อว่า ท่านหมื่นจันทร์ กับ ท่านหมื่นราม ทั้งสองท่านนี้ได้เห็นพระเจ้าองค์ตื้อก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสที่จะช่วยเหลือ จึงได้ช่วยกันก่อฐาน และทำราวเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้สร้าง ครั้นเมื่อขุนนางทั้งสองได้กลับถึงเมืองเวียงจันทร์แล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งครองเมืองเวียงจันทร์ในเวลานั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จมาทอดพระเนตรก็ทรงเกิดศรัทธาจึงได้สร้างวิหารประดิษฐานกับแบ่งปันเขตแดนให้เป็นเขตข้าทาสบริวารของพระเจ้าองค์ตื้อดังนี้

  • 1 . ทางตะวันออกถึงบ้านมะก่องเชียงขวา( ทางฝั่งซ้ายตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย )
  • 2. ทางตะวันตกถึงบ้านหวากเมืองโสม ( อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี)
  • 3. ทางทิศใต้ถึงบ้านบ่อเอือดหรือบ่ออาด ( อยู่ในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี)
  • 4. ทางเหนือไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน คาดว่าน่าจะเป็น บ้านพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และเมือง “กินายโม้” ส.ป.ป.ลาว ในปัจจุบัน

          พลเมืองที่อยู่ในเขตข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อตั้งแต่เดิมมาต้องเสียส่วยสาอากรให้แก่ทางราชการ แต่เมื่อตกเป็นข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อ โดยผู้ใดประกอบอาชีพทางใดก็ให้นำสิ่งนั้นมาเสียส่วยให้แก่วัดศรีชมพูองค์ตื้อทั้งสิ้น เช่น ผู้ใดเป็นช่างเหล็กก็ให้นำเครื่องเหล็กมาเสีย ผู้ใดทำนาก็ให้นำข้าวมาเสีย ผู้ใดทำนาเกลือก็ให้เอาเกลือมาเสียทางวัดก็มีพนักงานคอยเก็บรักษาและจำหน่ายประจำเสมอ ที่ด้านหน้าของพระวิหารมีตัวหนังสือไทยน้อยหรือหนังสือลาวเดี๋ยวนี้อยู่ด้วย แต่เวลานี้เก่าและลบเลือนมากอ่านไม่ได้ความติดต่อกัน พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ฝีมือช่างฝ่ายเหนือและล้านช้างผสมกัน นับเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก เป็นพระประธานซึ่งสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 3 เมตร 29 เชนติเมตร สูง 4 เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภู องค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เคารพนับถือมาก

 

ประวัติในหินศิลาจารึกเรื่องหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ

  • 1. สร้างเมื่อพุทธศักราช 105 พระวรรษา
  • 2. พระชัยเชษฐาเป็นลูกเขยพระยาศรีสุวรรณ ภรรยาของพระชัยเชษฐาคือ พระนางศรีสมโพธิ มีลูก 4 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 1 คน
  • 3. พระชัยเชษฐา เกิดที่เมืองเวียงคุก ภรรยาเกิดที่เมืองจำปา ( บ. น้ำโมง ) ในปัจจุบันนี้
  • 4. นามวัด โกศีล สร้างได้ 1ปี 3 เดือน สมภาร ชื่อ พระครูอินทราธิราช อายุ 34 ปี พรรษา 15 มีพระอยู่ด้วย 12 รูป สามเณร 5 รูป
  • 5. ทางวัดโกศีล ทางยาว 1 เส้น 5 วา กว้าง 1 เส้น 10 วา
  • 6. วัดโกศีล เป็นวัดที่สำคัญมากกงจักรเกิดที่วัดนี้ พระชัยเชษฐาจึงเลื่อมใสจึงชักชวนคณะที่มีศรัทธารวม 8 คน สร้างพระพุทธรูปใหญ่หน้าตัก กว้าง3 เมตร สูง 4 เมตร รายนามบุคคลทั้ง8 คือ

          พระชัยเชษฐา ท้าวอินทราธิราราช ท้าวเสนากัสสะปะ ท้าวอินทร ท้าวเศษสุวรรณ ท้าวพระยาศรี ท้าวดามแดงทิพย์ ท้าวอินสรไกรยสิทธิ์ รวมเป็นคน 12 ภาษาที่มาร่วมกันสร้าง พระชัยเชษฐาเป็นคนหล่อ

  • 7. พระชัยเชษฐาจึงป่าวร้องบริวาร 500 คนมาช่วยหล่อ เป็นทองเหลือง เงิน และคำผสมกันน้ำหนักได้หนึ่งตื้อ ทำพิธีหล่อเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต่อเมื่อพระอินทร์และเทพยุดา 108 องค์มาช่วยหล่อจึงสำเร็จ
  • 8. วัดโกศีล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สร้างอยู่ 7 ปี 7 เดือน จึงสำเร็จเป็นหลวงพ่อองค์ตื้อ
  • 9. เมื่อหล่อแล้ว มีอภินิหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง 100 อย่าง
  • 10. พระพุทธรูปองค์นี้สิ้นเงิน 105,000 ชั่ง
  • 11. บ้านที่ขึ้นเป็นบริวารมี 13 บ้านคือ เมืองเวียงคุก กองนาง กำพร้า จินายโม้ ปากโค พรานพร้าว ศรีเชียงใหม่หนองคุ้งยางคำ หนองแซงศรี สามขา ท่าบ่อ พร้าว บ่อโอทะนา

 

การดำเนินงานในวัดศรีชมภูองค์ตื้อ

          งานด้านสาธารณูปการ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้บูรณะ ซ่อมแซม ก่อสร้าง เสนาสนะ ถาวัตถุต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ศาลาการเปรียญพระครูสังวรกัลยาณวัตร หอพระไตรปิฎก ศาลาเอนกประสงค์ ศาลากองอำนวยการ ห้องน้ำพระภิกษุสงฆ์ กุฏิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ริมแม่น้ำโมง เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเป็นศูนย์อุทยานแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น และเป็นแหล่งสร้างบุญกุศลในทางพระพุทธศาสนา

          การบริหารการปกครอง วัดศรีชมภูองค์ตื้อ มีการบริหารปกครองเป็นแบบสังฆสภา ประชาธิปไตย โดยยึดหลักธรรมาธิปไตย มีคณะกรรมการบริหาร จัดการ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อยังศรัทธาให้เกิดแก่อุบาสกอุบาสิกา พุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งใกล้และไกล ซึ่งมีพระภิกษุจำพรรษา ไม่ต่ำกว่า 15 รูป สามเณรไม่ต่ำกว่า 17 รูป ทุกปี

          การศาสนศึกษา วัดศรีชมภูองค์ตื้อ แหล่งการศึกษาของพระภิกษุสามเณร รวมทั้งพุทธศาสนิกชนผู้สนใจทั่วไป เยาวชนนักเรียนนักศึกษา สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้จากวัดได้ทุกโอกาส ซึ่งได้เน้นศาสนศึกษาหลัก ๆ สำหรับพระภิกษุสามเณร คือ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี (ประโยค 1-2, 3, 4,) การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษาสำหรับเยาวชนทั้งหลาย ซึ่งเป็นการปลูกฝังพุทธธรรม คุณธรรมจริยธรรมในจิตใจของเยาวชนของชาติ

          การเผยแผ่พระพุทธศาสนา วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยวิธีการต่าง ๆ อาทิเช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โครงการอบรมค่ายพุทธธรรม โครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรมต่อต้านยาเสพติด โครงการปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จัดแสดงธรรมในวันธัมมัสสวนะ จัดโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้กับคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชนทั่วไป จัดส่งพระวิทยากรดำเนินการอบรม ให้กับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชนทั่วไป อบรม/บรรยายธรรมแก่ชีพราหมณ์ผู้ถือศีลอุโบสถตลอดเทศกาลเข้าพรรษา จัดโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ จัดพระวิทยากรสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนในเขตอำเภอท่าบ่อและอำเภอใกล้เคียง

          การสาธารณสงเคราะห์ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้ให้การสนับสนุนแก่สังคมต่าง ๆ ตามสมควรแก่ฐานะ อาทิเช่น บริจาคที่ดินให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้เรียนดีแต่ยากจน บริจาควัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่โรงเรียน บริจาคปัจจัยสมทุบทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ บริจาคอุปกรณ์คอมพิเตอร์แก่หน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน บริจาคช่วยผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น

 

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม

          ในอดีตพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์ล้านช้างผู้สร้างพระเจ้าองค์ตื้อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ทรงสถาปนาและทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ มากมาย พุทธศิลป์ในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากล้านนามาก รวมทั้งพระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปทองสำริดขนาดใหญ่ที่วัดองค์ตื้อ นครเวียงจันทน์ และวัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

          สิทธิพร ณ นครพนม อธิบายไว้ในเอกสารประกอบการสัมมนาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จังหวัดหนองคายว่า “พระเจ้าองค์ตื้อ” พระพุทธรูปขนาดใหญ่หนัก 1 ตื้อ (ประมาณ 12,000 กิโลกรัม ตื้อเป็นมาตรวัดของคนล้านนา) ศิลปะล้านนา สร้างเมื่อพ.ศ. 2105 เชื่อกันว่า เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระนางยอดคำทิพย์ พระบรมราชชนนีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทั้งกำหนดเป็นพระราชพิธีที่กษัตริย์เวียงจันทน์ต้องเสด็จมานมัสการ พระเจ้าองค์ตื้อทุกเดือน 4 เสด็จพร้อมขบวนช้าง ม้า มาสักการะจากวัดท่าคกเรือ อำเภอท่าบ่อถึงวัดพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร ถนนนี้จึงมีชื่อว่า “จรดลสวรรค์” มาจนถึงปัจจุบัน

          เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2520 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาทินัดดามาศ เสด็จเป็นองค์ประธานยกช่อฟ้าขึ้นสู่วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ (ม.ว.ก.) ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบรรณของวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ และได้ทรงมอบพระนามาภิไธยของทั้งสองพระองค์จารึกลงในแผ่นศิลาหินอ่อนไว้ด้านหน้าของตัววิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  :  https://th.wikipedia.org/wiki/วัดศรีชมภูองค์ตื้อ

ขอบคุณรูปภาพจาก  :  http://www.thaimaptravel.com/


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image

image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 658,030